ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คว้า 5 รางวัลจากเวทีประกวดผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ ระดับนานาชาติ “The 49th International Exhibition of Inventions Geneva” ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คว้ารางวัลระดับนานาชาติจากการส่งผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเข้าร่วมประกวดในงาน “The 49th International Exhibition of Inventions Geneva” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 21 เมษายน 2567 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยเป็นงานจัดแสดงผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกภายในเครือ International Federation of Innovator’s Associations (IFIA) มีการนำผลงานจากนานาประเทศทั้งจากทวีปยุโรป เอเชีย และอเมริกาเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงนิทรรศการมากกว่า 1,000 ผลงาน จากกว่า 40 ประเทศ โดยในปีนี้มี 3 ผลงานจากทีมอาจารย์ อาจารย์แพทย์และนักวิจัยของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ได้รับรางวัล 1 เหรียญทอง (Gold Medal), 2 รางวัลเหรียญเงิน (Silver Medal) และ 2 รางวัล Special Award สร้างชื่อเสียงระดับนานาชาติให้กับประเทศไทย พร้อมพัฒนาต่อยอดเพื่อการนำไปใช้งานจริงทางการแพทย์และสาธารณสุข

สำหรับผลงานจากอาจารย์ อาจารย์แพทย์ และนักวิจัยของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่ได้รับรางวัลในการประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ในเวทีระดับนานาชาติ The 49th International Exhibition of Inventions Geneva ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ประกอบด้วย

ผลงาน CRA Ambulance Boat : เรือฉุกเฉินต้นแบบเพื่อนำส่งผู้ป่วยในพื้นที่ทุรกันดารที่มีการประสานผ่านระบบ Telemedicine โดย อ.มัตติกา ใจจันทร์ และ อ.ดร.เชิดศักดิ์ ดวงจันทร์ อาจารย์จากวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี และคณะ ได้รับรางวัลเหรียญทอง (Gold Medal), รางวัล Special Award จาก Association of Polish Inventors and Rationalizers และรางวัล Special Award จาก National Research Council of Thailand (NRCT) โดย CRA Ambulance Boat เป็นเรือฉุกเฉินต้นแบบเพื่อนำส่งผู้ป่วยในพื้นที่ทุรกันดาร มีจุดเด่น คือ ออกแบบโดยใช้กระบวนการวิจัยแบบ Multimethod ทีมผู้พัฒนาเป็นแบบสหวิชาชีพ โครงสร้างมีความเหมาะสมกับการส่งต่อผู้ป่วยทางน้ำในพื้นที่ที่มีสิ่งกีดขวาง หน้าเรือออกแบบให้เปิดกว้างและสามารถเทียบตลิ่งหรือท่าเทียบเรือเพื่อสะดวกต่อการลำเลียงผู้ป่วยขึ้น-ลง ท้องเรือออกแบบเป็นรูปตัว M เพื่อให้มีเสถียรภาพต่อการทำหัตถการ สื่อสารผ่านระบบ Telemedicine เชื่อมโยงกับห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลปลายทาง เพื่อแสดงผลการประเมินสภาพผู้ป่วยและพิจารณาการรักษาแบบ แบบ Real time

ผลงาน CRA CellQuant : ระบบวิเคราะห์หาตำแหน่งและจำนวนเซลล์ สำหรับภาพชิ้นเนื้อที่ย้อมสารเรืองแสง เพื่อการใช้งานทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดย ผศ.ดร.อัญมณี ฉัตรศิริศุภชัย และ อ.ดร.ปณิธิ อัจฉราฤทธิ์ อาจารย์จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน และ น.ส.ณิชาพัชร์ นบนอบ จากวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ได้รับรางวัลเหรียญเงิน (Silver Medal) โดย CRA CellQuant คือ เว็บแอปพลิเคชันที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้ในการวิเคราะห์ตำแหน่งและจำนวนเซลล์สำหรับภาพอิมมูโนพยาธิวิทยาด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ นวัตกรรมเทคโนโลยีนี้ทำให้กระบวนการวิเคราะห์เซลล์เป็นไปอย่างรวดเร็วและแม่นยำ และสามารถนำไปใช้งานทางด้านวิจัยทางวิชาการ การวินิจฉัยทางคลินิก และการพัฒนาทางเภสัชกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังลดเวลาในการวิเคราะห์จากระบบอัตโนมัติของปัญญาประดิษฐ์อีกด้วย

ผลงานระบบปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูงสำหรับการประเมินเปลือกตาก่อนและหลังการศัลยกรรมชั้นตาอย่างแม่นยำ (EyLighner: Advanced AI Imaging for Precision Pre and Post-Operative Eyelid Assessment) โดย นส.พริ๊นซ์แพร์รีส แจ๊คสันว์ วงศาโรจน์ และ นส.มณิสรา พิบูลย์ นักศึกษาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ อ.ดร.ปณิธิ อัจฉราฤทธิ์ และ อ.ดร.ปวรี นนทะแสน อาจารย์จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒนและคณะ ได้รับรางวัลเหรียญเงิน (Silver Medal) ซึ่งเป็นผลงานแอปพลิเคชันการประมวลผลภาพ เพื่อประเมินผลของการศัลยกรรมชั้นตาและค่าความสามารถในการลืมตาด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อย่างอัตโนมัติ ผลลัพธ์จากแอปพลิเคชันสามารถนำไปสนับสนุนการประเมินการรักษาในผู้ป่วยของจักษุแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว ช่วยลดระยะเวลาและความเหนื่อยล้าจากการทำงานของจักษุแพทย์ได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันยังไม่มีแอปพลิเคชันที่ช่วยจักษุแพทย์ในการประเมินการทำศัลยกรรมชั้นตาแบบอัตโนมัติจากทั้งก่อนและหลังการเข้ารับการผ่าตัด แอปพลิเคชันนี้จึงเป็นเสมือน One stop service ที่จัดการขั้นตอนที่จำเป็นต่าง ๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการถ่ายภาพ ปรับภาพ และประเมินผลภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับการคว้ารางวัลจากเวทีการประกวดผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ “The 49th International Exhibition of Inventions Geneva” เป็นการยืนยันถึงคุณภาพและศักยภาพของนักวิจัยไทย โดยความสำคัญของงานวิจัยที่นักวิจัยได้พัฒนาขึ้นจากองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์และนวัตกรรมที่ได้รับการยกย่องนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของบุคลากรไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการยกระดับงานวิจัยและผลงานประดิษฐ์คิดค้นของคนไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และนับเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทย ในการแลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยีและประสบการณ์กับนักประดิษฐ์และนักวิจัยจากนานาประเทศ รวมถึงได้เผยแพร่และแสดงความสามารถในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสายตาของชาวโลกด้วย ซึ่งสอดคล้องต่อวิสัยทัศน์และพันธกิจของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่มุ่งสู่การเป็นสถาบันการศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการแพทย์ชั้นนำของภูมิภาคในการผลิตและพัฒนาบุคลากรชั้นสูง ทำการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่และนำผลงานนวัตกรรมและวิจัยไปประยุกต์ใช้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป การนำผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์เข้าร่วมประกวดในเวทีระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นเวทีอันทรงเกียรติครั้งนี้ นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อนักวิจัย อาจารย์ และบุคลากรทางการแพทย์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพราะนอกจากจะเป็นเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์ในระดับนานาชาติแล้ว ยังเป็นเวทีในการแสวงหาความร่วมมือสำหรับการวิจัยเชิงนวัตกรรมและเป็นแรงผลักดันให้นักวิจัยของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพสูงต่อไป

แชร์ไปยัง: