UniNet Network

ทำความรู้จักกับเครือข่าย UniNet

โครงการเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา หรือที่เรียกกันว่า UniNet ได้เริ่มก่อตั้งตามประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.2539 โดยได้ดำเนินการสร้างเครือข่ายความเร็วสูงเชื่อมโยงมหาวิทยาลัย/สถาบันระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายไปยังเครือข่ายเพื่อการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ ทำให้สถาบันการศึกษาสามารถจัดการเรียนการสอนและการวิจัยร่วมกันกับสถาบันการศึกษาในประเทศได้โดยสะดวกและรวดเร็วผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง อีกทั้งยังพัฒนาแหล่งความรู้โดยพัฒนาความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย โดยดำเนินโครงการ ThaiLIS รวมถึงพัฒนากลุ่มวิจัยด้านต่างๆ เพื่อสนับสนุนพัฒนาและปรับปรุงเครือข่ายให้เหมาะสมสำหรับใช้งานเพื่อการศึกษาวิจัยโดยเฉพาะ หรือจะเรียกว่า “เครือข่ายเฉพาะกิจ“ ก็ไม่ผิดนัก

"UniNet เครือข่ายเพื่อการศึกษาวิจัย เป็นเครือข่ายเฉพาะกิจ สำหรับสนับสนุนสถาบันการศึกษา ดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอน และการวิจัย เชื่อมต่อไปยังสถาบันการศึกษา"

รูปแบบการใช้บริการของ UniNet

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้มี Traffic ที่หลากหลายใช้งานอยู่บน เครือข่าย อาทิ www, YouTube, Facebook,Bit Torrent download ภาพยนต์ เพลงหรือรูปภาพ เป็นต้น ทำให้เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้งานเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อสนับสนุน กิจกรรมการเรียนการสอนและการวิจัยจะต้องไปแย่งช่องทางกับ ผู้อื่น เมื่อเป็นเช่นนี้งานวิจัยที่ต้องใช้ Bandwidth สูง เช่น ระบบสำหรับประชุมและจัดการเรียนการสอนทางไกล การใช้งานฐานข้อมูลเพื่อการสืบค้นและการใช้ทรัพยากรทางการศึกษาที่ให้บริการอยู่บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเกิดความล่าช้าและคุณภาพไม่ดี สุดท้ายก็จะไม่สามารถทำงานวิจัยหรือการจัดการการศึกษาที่ต้องการได้ ดังนั้นการมีเครือข่ายเฉพาะกิจ หรือกล่าวคือ “เครือข่ายเพื่อการศึกษาวิจัยโดยเฉพาะ” จึงเป็นช่องทางสำคัญที่จะช่วยให้คณาจารย์ นักวิจัย นิสิต นักศึกษาสามารถใช้เครือข่าย UniNet เพื่อดำเนินกิจกรรมเพื่อการศึกษาวิจัยได้โดยไม่มี Traffic แบบอื่นมาเจือปน

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกได้มีการจัดตั้งและสร้างเครือข่ายเพื่อการศึกษาวิจัยโดยเฉพาะอยู่ทุกประเทศ โดยเครือข่ายประเภทนี้เรียกชื่อกันในนามของ REN:Research and Education Network ซึ่งประเทศไทย UniNet ได้ตั้งกลุ่มในนาม ThaiREN ขึ้นเพื่อใช้เรียกขานและประสานงานความร่วมมือกับหน่วยงานการศึกษาวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงดำเนินการเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่าย Internet2 ซึ่งเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกา , เครือข่าย TEIN4 ซึ่งเชื่อมโยงสถาบันการศึกษาในทวีปเอเชียและยุโรป และเครือข่าย JGN2Plus ซึ่งเชื่อมโยงสถาบันการศึกษาในประเทศญี่ปุ่น จากการรวมกลุ่มต่างๆ ดังกล่าวนี้เอง ทำให้เกิด Community ทางด้านการศึกษาวิจัย

แชร์ไปยัง: