คณะเวชศาสตร์ฯ มหิดล พัฒนานวัตกรรมตรวจ “ไข่หนอนพยาธิ” ด้วย AI ครอบคลุม 34 ชนิด

คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล วิจัยร่วม สจล. พัฒนานวัตกรรมตรวจหา “ไข่หนอนพยาธิ” และ “ซีสต์โปรโตซัว” ด้วย AI ครอบคลุมถึง 34 ชนิด ช่วยประเทศไทยมีฐานข้อมูลสืบค้นและตรวจวินิจฉัย เตือนเลี่ยงกินอาหารสุกๆ ดิบๆ ยิ่งอาหารทะเลยิ่งเสี่ยงพยาธิอะนิซาคิส

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. รศ.นพ.ดร วัฒนกุลพานิชย์ หัวหน้าภาควิชาปรสิตหนอนพยาธิ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะฯ ร่วมกับ วิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ดำเนินงานวิจัย “นวัตกรรมตรวจหาไข่หนอนพยาธิและซีสต์โปรโตซัวด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI)” โดยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ ซึ่งการวิจัยนั้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านปรสิตหนอนพยาธิและโรคเขตร้อน และวิศวกรในทีมวิจัยจาก สจล. ที่จะต้องเตรียมภาพตัวอย่างไข่หนอนพยาธิและซีสต์โปรโตซัวชนิดต่างๆ ไม่น้อยกว่า 500 ภาพในแต่ละชนิด เพื่อป้อน AI ให้เกิดการเรียนรู้ผ่านเทคนิคการขยายข้อมูล ซึ่งเป็นการเพิ่มจำนวนข้อมูลภาพให้มีจำนวนมากขึ้นหลายๆ เท่าจากข้อมูลเดิม เพื่อให้เพียงพอต่อการนำไปใช้ฝึกโปรแกรม CiRa CORE ของ AI ให้มีขีดความสามารถในการตรวจหาผลิตผลของเชื้อพยาธิปรสิตในอุจจาระได้อย่างถูกต้อง มีความแม่นยำสูง ซึ่งมักใช้ในการขยายข้อมูลเข้าช่วยเพื่อให้ได้ข้อมูลเพียงพอต่อความต้องการ

“ในการศึกษาได้ใช้เทคนิค 4 แบบในการสังเคราะห์รูปภาพ ได้แก่ การหมุนรูปภาพเดิม (Rotation) เปลี่ยนสภาพแสงในภาพ (Contrast) ปรับความชัดของภาพ (Blur) และการใส่การรบกวนไปในภาพ (Noise) ดังนั้น ภาพหนึ่งภาพสามารถสร้างเป็นข้อมูลภาพที่แตกต่างกันหลายๆ ภาพ เมื่อนำข้อมูลที่ได้จากการขยายข้อมูล รวมเข้ากับข้อมูลภาพชุดเดิมที่มีไปใช้ในการฝึกสอน ผลที่ได้แสดงให้เห็นว่า การขยายข้อมูลภาพ ช่วยเพิ่มความแม่นยำให้กับปัญญาประดิษฐ์ในการเรียนรู้เชิงลึกอย่างมาก ช่วยให้ปัญญาประดิษฐ์มีความชาญฉลาดในการจัดการกับภาพที่ได้เจอในหลายรูปแบบ และสามารถจำแนกแยกแยะวัตถุเป้าหมายได้ด้วย” รศ.นพ.ดรกล่าว

แชร์ไปยัง: