“สกมช”. นำร่อง 10 หน่วยงาน เปิดใช้แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนข้อมูลภัยไซเบอร์

สำนักงานไซเบอร์ พัฒนาแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนข้อมูลภัยคุกคามทางไซเบอร์ หวังป้องกันภัยไซเบอร์ที่เป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก นำร่อง 10 หน่วยงาน ก่อนจะขยายมากกว่า 50 หน่วยงานภายในเดือน พ.ย.นี้

พล.อ.ต. อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ  (สกมช.) ได้พัฒนาแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนข้อมูลภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพื่อใช้ในการรับและแบ่งปันข้อมูลภัยคุกคามทางไซเบอร์ ของ ไทยเซิร์ต โดยมีศูนย์ประสานงานความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ภาคการธนาคาร (ทีบี- เซิร์ต) เป็นที่ปรึกษาดำเนินโครงการ  เพื่อช่วยให้การป้องกันภัยไซเบอร์ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีหน่วยงานนำร่องที่เป็นพันธมิตรต่าง ๆ ครอบคลุมหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ ทั้ง 7 กลุ่ม

ปัจจุบันมีหน่วยงานได้เชื่อมต่อระบบกันแล้วรวมทั้งสิ้น 10 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข , กระทรวงคมนาคม ,กระทรวงพลังงาน , ศูนย์ประสานงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ ด้านโทรคมนาคม , สำนักข่าวกรองแห่งชาติ , ศูนย์ประสานงานความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร , สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) , กองบัญชาการกองทัพไทย , การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค  และภายในเดือน พ.ย. นี้จะเพิ่มหน่วยงานเข้าร่วมมากกว่า 50 หน่วยงาน

สำหรับการเชื่อมต่อระบบจะเป็นแบบอัตโนมัติเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ภัยคุกคามทางไซเบอร์ เชิงเทคนิคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวบ่งชี้ที่ระบุถึงกลุ่ม แฮกเกอร์ ต่าง ๆ ที่คาดว่า หรือ น่าจะมีการโจมตีในประเทศไทย เป็นต้น เพื่อเป็นการแชร์ข้อมูลระหว่างกันแบบเชิงรุก คัดกรองภัยคุกคาม เพื่อสร้างให้เกิดความเชื่อมั่น มีการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า วิเคราะห์ความสัมพันธ์เหตุการณ์ และสืบค้นข้อมูลภัยคุกคามจากระบบได้ เพื่อให้เป็นเป็นแหล่งข่าวกรองไซเบอร์ที่เป็นระบบที่มีความน่าเชื่อถือ ของประเทศ และในอนาคตจะมีการขายความร่วมมือกับหน่วยงานในต่างประเทศด้วย

พล.อ.ต. อมร กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังมีภัยคุกคามทางไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง แต่ตอนนี้หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข หรือ สธ. มีเหตุการณ์ภัยคุกคามลดลงอย่างมีนัยสำคัญหลังผู้บริหารหน่วยงานให้กับความสำคัญยกระดับเรื่องไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ทว่าหน่วยงานที่น่าเป็นห่วง กลับเป็นภาคการศึกษา ที่มีข้อมูลนักเรียน ผู้ปกครอง และ เว็บไซต์ที่ไม่มีผู้ดูแลอย่างเป็นระบบ กลับเพบเจอภัยคุกคามเพิ่มขึ้น ดังนั้นปัจจุบันจึงมีหน่วยงานการศึกษา และมหาวิทยาลัยต่างๆ แสดงความประสงค์เข้าเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มจำนวนมาก 

หน่วยงานที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ จะไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่จะต้องส่งบุคลากรเข้าร่วมอบรม เพื่อให้เข้าใจการใช้งานของระบบ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด มากกว่าที่จะแจกแอคเคาท์ให้ใช้งานระบบเท่านั้น

 

“สกมช”. นำร่อง 10 หน่วยงาน เปิดใช้แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนข้อมูลภัยไซเบอร์ (posttoday.com)

แชร์ไปยัง: