ทุกวันนี้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI : Artificial Intelligence ) ได้ถูกพัฒนาและนำมา ใช้ในหลายวงการ โดยเฉพาะ Generative AI ที่ฉลาดล้ำ และถูกพัฒนาสู่การเป็น AI Deepfake ซึ่งได้ถูกนำมา ใช้ในทางสุ่มเสี่ยง ด้วยการสร้างเนื้อหา “ภาพ-เสียง” ที่เสมือนเรื่องจริงจนแยกไม่ออก!! และได้กลายเป็นประเด็นร้อน ที่มีการถกเถียงและเป็นห่วงกันว่า เมื่อภาพและเสียงที่ถูก สร้างขึ้นเป็นภาพจริง เสียงจริง ของบุคคลนั้นจริงๆ หรือไม่ ซึ่งในต่างประเทศก็ได้มีกรณี คนบางกลุ่มได้นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ปลอมตัว เป็นบุคคลสำคัญ และสร้างสถานการณ์ให้เสื่อมเสีย!?!
ดังเช่น “บารัค โอบามา” และ “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก” สองบุคคลดังระดับโลก ก็โดนมือดี ทำวีดีโอตัวปลอมแบบ “เนียนกริ๊บ” มาแล้ว จนเป็นข่าวโด่งดัง!! ทำให้ทุกวันนี้ ภาพวิดีโอ ที่แชร์บนโลกออนไลน์ เห็นด้วยตา ได้ยินด้วยเสียง ก็อาจไม่ใช้ตัวจริงเสมอไป? ทาง ศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (AI Governance Clinic หรือ AIGC) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ เอ็ตด้า จัดเวที “AI Governance Webinar 2023 Season 2 EP.2 : The Challenge of AI Deepfake Technology” เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง และทำความรู้จักกับ AI Deepfake พร้อมวิธีการรับมือเบื้องต้น เพื่อให้คนไทยรู้ทันเทคโนโลยีนี้!!
“AI Deepfake” คือ Generative AI รูปแบบหนึ่ง ที่สามารถนำไปสร้างสื่อสังเคราะห์ ทั้งภาพนิ่ง เสียง ภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียง ที่เหมือนเป็นคนมาพูดหรือคุยจริงๆ จนแทบแยกไม่ออก ด้วยระบบการเรียนรู้หรือ Deep Learning จากลักษณะภายนอกของบุคคล เช่น สีผิว ตา ปาก จมูก รูปลักษณ์ต่างๆ ผสานความฉลาดล้ำจากการเรียนรู้ ข้อมูลมหาศาลของ Generative AI จึงทำให้การสร้างภาพและเสียงนั้นๆ มีความเหมือนกับว่า คนๆ นั้นเป็นคนพูดจริงๆ

ทั้งนี้การสร้างคลิปภาพและเสียงจาก AI Deepfake จะมี 2 แบบ คือ การปลอมแค่บางส่วน หรือ Face Wrap เช่น เอาหน้าที่อยากปลอม ไปแปะใส่หน้าคนจริงที่ถ่าย แล้วพยายามเลียนแบบเสียง และพฤติกรรมให้เหมือนคนนั้นๆ
ส่วนอีกวิธีการสร้างคือ การปลอมทั้งหมด หรือ Face Reenactment โดยใช้ AI ที่เกิดจากการเรียนรู้จากข้อมูลต่างๆ ทั้งการให้แสงเงา การกระพริบตา การยิ้ม เลียนแบบทุกอย่าง ก่อนสร้างภาพเสียงสังเคราะห์เป็นคนนั้นออกมา
ความก้าวหน้าในการเลียนแบบภาพและเสียงจนแทบแยกไม่ออกทำให้มีความกังวลว่าจะผลต่อการทำธุรกรรมออนไลน์ ที่จะมีความเสี่ยงต่อการถูกปลอมแปลงหรือไม่? ในเรื่องนี้ทาง “ศาสตราจารย์ ดร.วุฒิพงศ์ อารีกุล” คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า แม้เทคโนโลยี AI Deepfake จะมีความฉลาดล้ำ แต่มันไม่สามารถเลียนแบบอัตลักษณ์ หรือ Identity ที่สะท้อนความเป็นเราจริงๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น ม่านตา เลือด DNA ฟัน หรือแม้แต่ลายนิ้วมือ

ซึ่งอัตลักษณ์เหล่านี้ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ต่างก็นำมาใช้ ในกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ บริการ Digital ID เพื่อยืนยันว่าเป็นเราจริงๆ ซึ่งการยืนยันตัวตนด้วยวิธีนี้ค่อนข้าง มีความปลอดภัย น่าเชื่อถือ
ขณะเดียวกัน เราจะสามารถแยกแยะได้หรือไม่ว่า คลิปภาพและเสียง ถูกสร้างและเผยแพร่บนโลกออนไลน์ เป็นคลิปที่เราเห็นถูกสร้างจาก AI Deepfake หรือไม่ ทาง “พลอากาศตรี อมร ชมเชย” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีระบบในการตรวจสอบที่สามารถบอกได้ว่า คลิป ภาพ เสียง ถูกสร้างจากเทคโนโลยี AI หรือไม่ แต่ก็ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ และค่อนข้างมีข้อจำกัดหลายประเด็นและไม่สามารถบอกได้แบบเรียล ไทม์ ทันที ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์
“สิ่งที่จะทำให้เรารู้ทัน AI Deepfake ได้ คือ วิจารณญาณของเราเอง ที่อย่าเชื่อแค่ภาพที่เราได้เห็น เสียงที่เราได้ยิน แล้วกดไลค์ กดแชร์ต่อ หรือแสดงความคิดเห็นเลย แต่ต้องมององค์ประกอบ หรือปัจจัยอื่นๆ ตลอดจนบริบทที่เกิดขึ้นว่า มีโอกาสที่คนคนนี้จะพูดแบบนี้ จริงหรือไม่ หรืออย่าเชื่อแค่สิ่งที่สื่อสำนักต่างๆ นำเสนอ เพราะเราต้องยอมรับว่า สิ่งที่สื่อ นำเสนอบางทีอาจไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมดก็ได้ ต้องคิดมากกว่าสิ่งที่เห็น วิเคราะห์ว่าจริงหรือไม่เราต้อง ปรับตัวให้ทัน”
อย่างไรก็ตามในมุมกลับกัน AI Deepfake ก็มีประโยชน์หากใช้ในทางที่ดี เช่นในด้านการศึกษาอาจนำมา สร้างครูในโลกเสมือนจริง หรือ Virtual Teacher อย่างการจำลอง “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” ขึ้นมาเพื่อให้เป็น ครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ เป็นการเพิ่มอรรถรสในการเรียนได้เป็นอย่างดี เด็กนักเรียนอาจมีความรู้สึกสนุก กับการเรียนมากยิ่งขึ้น

หรือแม้แต่การใช้เทคโนโลยีนี้สร้าง ศิลปิน นักร้องที่จากโลกนี้ไปแล้ว ให้กับมาแสดงภาพยนตร์ หรือยืนร้องเพลง เสมือนตัวจริง ได้ ซึ่งก็มีการทำเช่นนี้แล้วทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เป็นการนำเทคโนโลยี มาสร้างความสุขให้ แฟนๆอีกครั้ง เสมือนศิลปะผู้นั้นยังมีชีวิตและลมหายใจอยู่!!
เมื่อ “เหรียญมีสองด้าน เทคโนโลยีมีสองคม” สิ่งสำคัญที่คนไทยจะต้องมี คือ ทักษะการรู้เท่าทัน ที่ไม่ใช่ แค่เรื่องของดิจิทัล หรือ Digital Literacy เท่านั้น แต่ต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยี AI หรือ AI Literacy ด้วย
ซึ่ง “ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด” ที่ปรึกษาอาวุโส ของเอ็ตด้า ยืนยันว่า จะเร่งสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนไทย รวมถึงเดินหน้าสร้าง AI Governance Guideline ที่เหมาะสมกับประเทศเพื่อเป็นกรอบในการดูแลการประยุกต์ ใช้งานเอไอของประเทศไทย ให้เกิดผลดีและประโยชน์ สูงสุดในอนาคตด้วย