วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2567 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) จัดการประชุมเพื่อรับมอบนโยบายการพัฒนากำลังคนด้าน Artificial Intelligence (AI) ณ ห้องประชุมสยาม ชั้น 6 โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนากำลังคนด้าน AI โดยอาศัยความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษา ในการนำเทคโนโลยี AI ไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้กับนิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปในทุกช่วงวัย ให้มีความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตามนโยบาย อว. For AI ภายใต้การนำของ นางสาวศุภมาส อิสรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมด้วย ศาสตราจารย์ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติขึ้นกล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การประชุม นอกจากนี้ภายในงานแขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชนยังได้รับฟังเสวนาใน หัวข้อ แนวทางการพัฒนากำลังคนด้าน Artificial Intelligence (AI) จากผู้บรรยายทรงเกียรติ จำนวน 4 ท่านได้แก่ ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานคณะทำงานปฏิรูประบบอุดมศึกษา สป.อว., ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, รองศาสตราจารย์มาโนช โลหเตปานนท์ ผู้รักษาการรองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งได้รับความสนใจจากแขกที่มาร่วมงานเป็นอย่างมาก
สำหรับแผนยุทธศาสตร์พัฒนาทักษะ AI เพื่อตอบสนองต่อนโยบายการพัฒนากำลังคนด้าน Artificial Intelligence (AI) ดังกล่าว มีแผนในการขับเคลื่อนผ่านสถาบันอุดมศึกษา โดยที่ประชุมอธิการบดี 4 แห่ง ได้แก่ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย จะร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินการดังกล่าว ผ่านโครงการ “AI University” ที่มีเป้าหมายให้บัณฑิต ร้อยละ 90 มีความรู้พื้นฐานด้าน AI หลังจบการศึกษา และร้อยละ 50 มีทักษะในการใช้ AI จากการลงมือปฏิบัติภายในปีที่ 2 ของการศึกษา นอกจากนี้ นักศึกษาทุกคนจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับ AI และจริยธรรม ในการใช้ AI โดยมีแผนดำเนินการเริ่มต้นด้วยการจัดตั้งโครงการนำร่องในมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อม และร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดการฝึกอบรม และเปิดคอร์สออนไลน์ Generative AI โดยตั้งเป้าผู้เรียน 10,000 คน ใน 3 เดือน หรือ 100,000 คนใน 6 เดือน
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะเป็นการช่วยขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบาย “อว. for AI” ที่ได้มีการประกาศไปเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2567 ที่มุ่งเน้นการใช้ AI ในการพัฒนา 3 ด้านหลัก ได้แก่ การใช้ AI ในการศึกษาเพื่อเพิ่มศักยภาพของคนไทย การพัฒนาบุคลากรด้าน AI และการสนับสนุนนวัตกรรม AI เพื่อใช้งานจริง ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งนโยบาย “อว. for AI” ดังกล่าว ถือเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการสร้างระบบการศึกษา ในมหาวิทยาลัยไทยเพื่อก้าวสู่การเป็น Education 6.0 ที่เป็นการเรียนรู้แบบ Immersive Education เป็นการศึกษาแบบไร้รอยต่อระหว่าง Offline และ Online โดยนำเทคโนโลยี AI และ Metaverse มาช่วยในการเรียนการสอน และนำมหาวิทยาลัยของไทยเข้าสู่การเป็น AI University ซึ่งสำหรับด้านการพัฒนาบุคลากรด้าน AI จะมี สป.อว. ที่เป็นหน่วยงานที่เชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยในการผลิตและพัฒนากำลังคนในทุกช่วงวัยให้มีทักษะด้าน AI ที่พร้อมนำ ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานและชีวิตประจำวันและเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต ซึ่งกระทรวง อว. ให้ความสำคัญและพร้อมสนับสนุนอย่างจริงจัง
สำหรับแผนยุทธศาสตร์นี้ไม่เพียงแค่มุ่งเน้นการสร้างความรู้และความชำนาญด้าน AI ให้กับนักเรียน นักศึกษา และบุคลากร เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยี AI ในอนาคตแต่ยังเป็น การวางรากฐานให้ประเทศก้าวขึ้นเป็นผู้นำในด้าน AI ของภูมิภาคอาเซียน กระทรวงการอุดมศึกษาฯ มุ่งมั่นว่าความร่วมมือนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน