การเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยี AI ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และคลื่นการลงทุนของบิ๊กเทคต่างชาติที่เข้ามาหลายระลอก กลายเป็นความท้าทายของมหาวิทยาลัยที่ต้องปรับหลักสูตร พร้อมทั้งปูพื้นฐานด้านดาต้า และการใช้งาน AI อย่างเหมาะสมให้กับนิสิต-นักศึกษา เพื่อสร้างบัณฑิตที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น
“มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” (มธ.) หนึ่งในมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของไทย ก็กำลังเผชิญกับความท้าทายนี้ และพยายามปรับการทำงานในหลายมิติ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเท่าทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI

ผ่านร่าง AI เพื่อการศึกษา
ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ อธิการบดี มธ. กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มธ. เพิ่งผ่านร่าง “ระเบียบหลักเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยว่าด้วยการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อการศึกษา” เพื่อเป็นกรอบการใช้ AI สำหรับการเรียนการสอน ครอบคลุมใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ AI ได้ 2.ใช้ AI อย่างถูกต้องและเหมาะสม และ 3.ใช้ AI เพื่อสร้างประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดผลในทางที่เสียหาย
“เมื่อ 2 ปีก่อน เวลาพูดถึงการใช้ AI ในการศึกษาจะคุยกันว่านำมาใช้แล้วเข้าข่ายทุจริตหรือขัดต่อจริยธรรมหรือไม่ แต่ตอนนี้เราปฏิเสธการใช้ AI ไม่ได้แล้ว การร่างกรอบการใช้ AI อย่างเหมาะสมจะเป็นทิศทางที่ทุกมหาวิทยาลัยมุ่งไป โดยที่ผ่านมามีหลายมหาวิทยาลัยเริ่มทำเรื่องนี้ไปแล้ว เช่น มหิดล และจุฬาฯ”
สำหรับรายละเอียดของร่างนโยบายจะมีการระบุสัดส่วนการใช้ AI อย่างเหมาะสม ซึ่งต้องมีการอภิปรายร่วมกันอีกพอสมควรเพื่อกำหนดสัดส่วนให้เข้ากับการเรียนการสอนของแต่ละคณะ และยืดหยุ่นไปตามรายวิชา
“สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการผลักดันร่างนโยบายนี้ คือการสนับสนุนให้นักศึกษาหรือบุคลากรในมหาวิทยาลัยเป็นผู้ที่มีส่วนในการคิดค้นหรือพัฒนานวัตกรรมจาก AI โดยที่ไม่ได้เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว”
สนับสนุนนักศึกษา-บุคลากร
รศ.ดร.จิรพล สังข์โพธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์ และการดิจิทัล มธ. เสริมว่า นอกจากร่างนโยบายการใช้ AI อย่างเหมาะสม มธ.ยังจัดหาเครื่องมือ AI เช่น ChatGPT มาให้นักศึกษาใช้อย่างถูกต้อง เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือในฝั่งของอาจารย์ก็มี “AI for Teacher” หรือเครื่องมือ AI ที่ช่วยเตรียมการสอน โครงสร้างเนื้อหา และประมวลรายวิชา
อีกส่วนที่มีการนำ AI มาใช้ คือการบริหารจัดการส่วนต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย เช่น การจัดสรรทรัพยากร การบริหารพื้นที่จอดรถจากการจดจำป้ายทะเบียนรถของบุคลากร หรือแม้แต่สำนักทะเบียนก็มีการนำ AI มาใช้เพื่อวิเคราะห์ว่านักศึกษาคนใดที่ผลการเรียนเริ่มมีปัญหาและจะส่งแจ้งเตือนไปให้อาจารย์ต่อไป
“ตอนนี้เริ่มมองไปถึงการนำ AI มาใช้ในการมอนิเตอร์สุขภาพจิตของนักศึกษา เป็นเหมือนการคัดกรองในเบื้องต้นว่า กลุ่มใดที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ แต่ยังคงเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนมาก และมีความเกี่ยวข้องกับรายบุคคล”
หลักสูตร AI Crash Course
รศ.ดร.จิรพลกล่าวต่อว่า 2 ปีที่ผ่านมา วิทยาลัยนวัตกรรม มธ. มีการเปิดหลักสูตร “AI Crash Course” เพื่อเตรียมความพร้อมและปูพื้นฐานด้าน AI ให้กับนักศึกษาที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาก่อนจะเข้าสู่โลกการทำงาน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีนักศึกษาจากคณะต่าง ๆ ให้ความสนใจและลงทะเบียนเรียนอย่างต่อเนื่อง
“นอกจาก AI Crash Course มธ.ยังมีความร่วมมือกับ Skillane ในการพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ชื่อว่า ‘TUXSA’ ซึ่งเปิดโอกาสให้คนที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว หรือกลุ่ม Lifelong Learning ได้เพิ่มพูนความรู้ในเรื่องที่สนใจง่ายขึ้น รวมถึงยังมีหลักสูตรปริญญาโทออนไลน์อื่น ๆ ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน เช่น Applied AI และ Data Science สะท้อนจากจำนวนนักศึกษาในระบบหลักสูตรออนไลน์ที่มีอยู่หลายพันคน”
การขับเคลื่อนงานด้าน AI
ขณะเดียวกัน ปีที่ผ่านมา มธ.ได้เปิดตัว “Thammasat AI Center” หรือศูนย์การเรียนรู้เรื่องดาต้า และ AI เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความชำนาญด้าน AI โดยจะเปิดให้นักศึกษาและบุคคลภายนอก เข้ามาเรียนรู้ผ่าน Use Case ต่าง ๆ รวมทั้งมีส่วนที่ให้คำปรึกษาภาคธุรกิจสำหรับการประยุกต์ใช้ AI ในองค์กรด้วย

ด้าน ผศ.ดร.ภูมิพร ธรรมสถิตย์เดช อาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาตรี นวัตกรรมและการแปรรูปทางดิจิทัล มธ. เสริมว่า มธ.มีความแตกต่างในการทำเรื่อง AI จากมหาวิทยาลัยอื่น ๆ เพราะมีทีมที่ชำนาญในหลากหลายด้าน เช่น อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์จะดูแลเรื่องกรอบการใช้งาน AI (AI Governance)
โดยจะทำงานร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และอาจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) จะดูในเชิงเทคนิคอย่างการประยุกต์ใช้ดาต้ากับโมเดลต่าง ๆ พัฒนาเฟรมเวิร์กการใช้งาน AI อย่างเหมาะสม และวางแผนในการพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบัน
แก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน
เมื่อถามถึงประเด็นเกี่ยวกับการขาดแคลนแรงงานด้าน AI อธิการบดี มธ.บอกว่า สิ่งนี้เป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้มหาวิทยาลัยต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชนมากขึ้น ล่าสุดได้ลงนามความร่วมมือกับ Kasikorn Business Technology Group (KBTG) ในการพัฒนาหลักสูตรศิลปศาสตร์ และวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสหวิทยาการ เพื่อสร้างคนที่มีครบทั้งความรู้ด้านเทคโนโลยี และทักษะการประยุกต์ใช้เครื่องมือต่าง ๆ
“การสร้างคนที่มีความชำนาญด้านเทคโนโลยีแบบตรงสายค่อนข้างทำได้ยากและใช้เวลานาน มธ.จึงเริ่มมองไปที่การท็อปอัพความรู้ด้าน AI ให้กับคนในสาขาต่าง ๆ เพื่อเติมเต็มความต้องการของตลาดแรงงานที่มีไม่แพ้กัน เช่น สายเทคโนโลยีการเงิน หรือแม้แต่หลักสูตร AI Crash Course ก็สามารถขยายผลให้ตอบโจทย์การเรียนเพื่ออัพสกิลระยะสั้น 3-6 เดือนได้”
ย้ำทิศทาง มธ. ยุคใหม่
ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ย้ำถึงทิศทางของ มธ. ในยุคที่การศึกษามีความท้าทายจากปัจจัยต่าง ๆ ว่า มธ.จะต้องสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนมากขึ้น เพื่อพัฒนาหลักสูตรที่สามารถผลิตคนให้ตอบโจทย์การทำงาน หรือในมุมของคนที่มองว่าใบปริญญาไม่ใช่เป้าหมายสำคัญ ก็ต้องมีตัวเลือกเป็นคอร์สระยะสั้น เรียนครบตามเกณฑ์ที่กำหนดก็จะได้รับการรับรองคุณวุฒิของมหาวิทยาลัย
“ตั้งเป้าว่าในปี 2570 ทุกคณะจะต้องมีการฝึกงานภาคบังคับ สำหรับเตรียมความพร้อมและพัฒนาทักษะ Critical Thinking ก่อนเข้าสู่โลกการทำงานจริง อย่างน้อยก็อยากปรับหลักสูตรให้สามารถฝึกงานได้ 1 ภาคการศึกษา เพื่อที่องค์กรต่าง ๆ จะได้ไม่ต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับความสามารถของบัณฑิตที่จบจาก มธ.”