ETDA –เนคเทค เผยแผน AI แห่งชาติ เริ่มนำร่องภาคการแพทย์ เกษตร และบริการภาครัฐ เน้นการใช้งานแบบมีธรรมาภิบาล เชื่อมต่อข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ
นายศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส สํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA เปิดเผยว่าแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570) หรือ แผน AI แห่งชาติ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ให้ความสำคัญกับเรื่องธรรมมาภิบาล จริยธรรมการ AI เนื่องจาก เป็นเทคโนโลยีที่อาจส่งผลกระทบมากมาย โดยจะมีการทำความเข้าใจกับผู้นำองค์กรต่างๆ ให้ตะหนักและมีองค์ความรู้เรื่องความเสี่ยง ด้วยการออกแนวทางปฎิบัติหรือไกดไลน์ เพื่อให้มีการใช้ AI อย่างมีธรรมมาภิบาล
สำหรับแผนการผลักดันธรรมมาภิบาลด้าน AI นั้น จะเริ่มที่ด้านการแพทย์หรือด้านสาธารณสุขก่อน เช่น การแชร์ข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ซึ่งต้องให้ความสำคัญในเรื่องกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ พีดีพีเอ ที่มีผลบังคับใช้แล้ว รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่างๆ และหากจะมีการ นำ AI มาช่วยในการวินิจฉัยโรค ทำได้มากน้อยแค่ไหน และ สุดท้ายคือ จำเป็นต้องให้แพทย์ เป็นผู้ตัดสินใจวินิจฉัยสุดท้าย เป็นต้น
นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษา หากมีกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการใช้ จำเป็นต้องออกกฎหมายใหม่หรือไม่ เพื่อลดข้อจำกัดการใช้ AI รวมถึงการทดลองแซนบ็อกซ์ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบในวงกว้าง
ด้านนายชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า ภายใต้แผนดังกล่าวมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว. ) ร่วมกันผลักดัน โดยระยะที่ 1 ให้เกิดการใช้งานจริง 3 ส่วน คือ การเกษตร การแพทย์ และบริการภาครัฐ
ภาคการแพทย์ได้เริ่มโครงการแล้ว คือการทำ AI ดาต้า แชร์ริ่ง ด้วยการนำข้อมูลด้านการแพทย์มารวมกันแล้วเปิดให้โรงพยาบาลต่างๆ นำไปใช้ในการพัฒนา AI ซึ่งกรมการแพทย์ เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลเรื่องดาต้า และการให้บริการ AI ในโรงพยาบาลเครือข่ายทั้งหมด
ส่วนภาคการเกษตร จะมีการต่อยอดจากข้อมูลเกษตรขนาดใหญ่ ทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) นำข้อมูลเกษตรและข้อมูลคนจน ใช้ในการวางแผนเยียวยาเกษตรกรประจำปี ซึ่งต่อไปจะมีการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ที่เก็บจากหลายกระทรวง ทำการวิเคราะห์ว่าจะเยียวยาเกษตรกรในรูปแบบใดบ้างในทุกๆ ปี
ขณะที่บริการภาครัฐ จะมีพัฒนาฐานข้อมูลคนจน ให้กับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยนำ AI เข้ามาใช้ในการวิเคราะห์ สามารถชี้เป้าคนจนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ อีกส่วนคือการทำพัฒนาแชทบอตบริการภาครัฐ ให้เป็นภาษาไทย