7 เมืองอัจฉริยะ(Smart City) ที่น่าสนใจในปี 2024
เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City เป็นรูปแบบการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มประสิทธิและคุณภาพของบริการชุมชน เพื่อช่วยในการลดต้นทุน และลดการบริโภคของประชากร โดยยังคงเพิ่มประสิทธิภาพให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยได้ในคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตั้งแต่การวางรากฐานในการเชื่อมโยงอุปกรณ์หรือสิ่งของรอบ ๆ ตัวเข้ากับโครงข่ายการสื่อสารแบบอินเทอร์เน็ต การวางผังเมืองที่ชาญฉลาด ให้รองรับการใช้ชีวิตที่สะดวกสบาย ทั้งด้านการขนส่ง การเลือกใช้พลังงานสะอาด ประหยัดพลังงาน ช่วยลดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ตลอดจนลดการปล่อยคาร์บอนให้เหลือน้อยที่สุด
อย่างไรก็ตาม นิยามของคำว่าเมืองอัจฉริยะนั้นมีความหลากหลาย ไม่มีความหมายตายตัว แต่เป้าหมายที่ทุกเมืองมีตรงกันก็คือ การทำให้ประชาชนในเมืองมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนนั่นเอง และนี่ก็คือ 7 เมืองอัจฉริยะที่น่าสนใจในปี 2024
 
-สิงคโปร์ เมืองอัจฉริยะที่ครองอันดับหนึ่งของรายชื่อเมืองอัจฉริยะ นับตั้งแต่เปิดตัวโครงการ Smart Nation ในปี 2014 สิงคโปร์ได้นำเทคโนโลยีอัจฉริยะมากมายมาใช้ในภาคส่วนสาธารณะและเอกชน เทคโนโลยีการชำระเงินแบบไร้สัมผัสได้รับการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อกำหนดทิศทางการเดินทางและการชำระเงินอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับผู้โดยสาร 7.5 ล้านคนของสิงคโปร์ที่ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อช่วยลดแรงกดดันจากประชากรสูงอายุ จึงได้มีการนำระบบสุขภาพดิจิทัลมาใช้ ซึ่งทำให้การปรึกษาทางวิดีโอกลายเป็นเรื่องปกติไปพร้อมกัน รวมถึงอุปกรณ์สวมใส่ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อติดตามผู้ป่วย นอกจากนี้ ในปี 2021 สิงคโปร์ได้ประกาศแผนการสร้างเมืองอัจฉริยะแห่งใหม่ขึ้นมาในแถบตะวันตกของสิงคโปร์ โดยมุ่งเน้นความเป็นเมือง eco-smart คือทั้งอัจฉริยะและในขณะเดียวกันก็เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย โดยจะเป็นเมืองที่ไร้ยานยนต์ สร้างถนนและพื้นที่ปลอดภัยให้คนเดินเท้าและคนขี่จักรยาน
 
-ลอนดอน เป็นเมืองที่มีชาวสตาร์ทอัพและโปรแกรมเมอร์มากที่สุดในโลก เพราะเป็นเมืองที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีรอบด้าน เช่น โครงการ Civic Innovation Challenge เพื่อสนับสนุนธุรกิจสตาร์ตอัพให้คิดค้นนวัตกรรมมาช่วยพัฒนาและแก้ปัญหาด้านต่างๆ ของเมือง หนึ่งในเคล็ดลับสำคัญที่ลอนดอนนำมาใช้คือ นโยบายการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานเอกชน องค์กรการศึกษา หรือคนทั่วไปที่มีความรู้ความสามารถเกิดความสนใจและเข้ามาร่วมงานกับภาครัฐได้อย่างสะดวกที่สุด
 
-อัมสเตอร์ดัม เมืองอัมสเตอร์ดัมริเริ่มนโยบายเมืองอัจฉริยะมาตั้งแต่ปี 2009 แล้ว มีการดำเนินโครงการไปมากกว่า 170 โครงการทั่วเมือง ตัวอย่างเช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนกับรถเก็บขยะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อใช้ที่ป้ายรถเมล์ ป้ายบิลบอร์ด และเสาไฟฟ้าต่างๆ หรือการสร้างหมู่บ้านลอยน้ำเพื่อรับมือกับปัญหาพื้นที่ไม่เพียงพอกับจำนวนประชากรที่หนาแน่น อาคารบ้านเรือนและธุรกิจห้างร้านนับพันทั่วทั้งเมืองต่างก็ปรับมาใช้ฉนวนหลังคาประหยัดพลังงาน ระบบเปิดปิดและหรี่ไฟแบบอัตโนมัติ มาตรวัดพลังงานอัตโนมัติ และไฟ LED ประหยัดพลังงานกันเป็นเรื่องปกติ ผู้คนส่วนมากใช้จักรยานเพื่อเดินทาง ในขณะเดียวกันก็มีระบบขนส่งสาธารณะที่ทันสมัย มีระบบ Car-sharing เพื่อลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนน และมีรถบัสขับเคลื่อนอัตโนมัติรับส่งระหว่างสถานีรถไฟใต้ดินและที่จอดรถ
 
-ปารีส เมืองแห่งแฟชั่นและแสงไฟที่ให้ความสำคัญกับการสร้างเมืองอัจฉริยะ มีการใช้เทคโนโลยีมาดูแลระบบระบายน้ำเสีย โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน รถไฟใต้ดิน และพื้นที่สาธารณะต่างๆ และมีโครงการสถาปัตยกรรม Paris Smart City 2050 ที่ตั้งเป้าหมายสร้างอาคารที่ยืนหยัดทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย นอกจากนี้ ปารีสใช้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีเซ็นเซอร์มาช่วยเปรียบเทียบประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ตรวจจับความผิดปกติของโครงสร้างพื้นฐาน และกระตุ้นให้ประชาชนลดการผลิตของเสีย ซึ่งผลที่ได้ก็ช่วยให้ประหยัดการใช้พลังงานของเมืองได้อย่างมาก
 
-กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้มีนโยบายเรื่อง Smart Technology มาตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งนับวันจะยิ่งเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการเก็บรวบรวมข้อมูลซึ่งเป็นหัวใจของโครงการเมืองอัจฉริยะทุกโครงการของโซลเลยก็ว่าได้ มีการเก็บรวบรวมข้อมูลของเมืองด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพการจราจร การใช้ความเร็ว หรือคุณภาพอากาศ โดยสำรวจและวัดค่าด้วยระบบเซ็นเซอร์และกล้อง CCTV ที่ถูกติดตั้งไว้ทั่วเมือง นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีมาใช้กับพลเมืองผู้สูงวัย โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่คนเดียว จะมีระบบตรวจจับความผิดปกติ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น การเปิดปิดไฟ หรือถ้าไม่มีความเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน ระบบจะส่งสัญญาณไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเจ้าหน้าที่มาดูแลอย่างรวดเร็ว ด้านอาชญากรรมก็มีการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ตรวจหารูปแบบของอาชญากรรมด้วย ปัจจุบันโซลถือเป็นเมืองผู้นำด้านการใช้เทคโนโลยี 5G ในการเดินทางและคมนาคมอีกด้วย
 
-โตเกียว เป็นเมืองในภูมิภาคเอเชียที่มักจะติดอันดับท็อปเท็นเมืองอัจฉริยะระดับโลก มีความโดดเด่นในเรื่องความร่วมมือกันของคนในชุมชน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับพลเมืองผู้สูงวัย ล่าสุดรัฐบาลญี่ปุ่นได้เปิดตัวนโยบาย Society 5.0 ซึ่งเป็นการตั้งเป้าหมายไปสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล การให้คุณค่ากับทรัพยากรมนุษย์ และการเปลี่ยนไปสู่สังคมของคนรุ่นใหม่ สร้างความมั่นใจว่าพลเมืองทุกช่วงวัยจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี
 
-ออสโล ประเทศนอร์เวย์ กำลังมุ่งหน้าสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าและมีแผนที่จะให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2025 ซึ่งถือว่าน่าประทับใจเมื่อพิจารณาจากประชากรประมาณ 670,000 คนของเมือง มีการสร้างแรงจูงใจในการใช้รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์แล้ว รวมถึงการจอดรถฟรี การใช้ช่องทางรถประจำทาง การลดภาษีและลดราคาค่าผ่านทาง นอกจากนี้ ในฐานะส่วนหนึ่งของเป้าหมายของเมืองในการเป็นเมืองที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ยังมีโครงการอัจฉริยะอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการในเมืองออสโลอยู่แล้ว ซึ่งรวมถึงไซต์ก่อสร้างที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์และการปรับปรุงอาคารที่มีอยู่เพื่อพัฒนาระบบจัดการขยะแบบหมุนเวียนและพลังงานสีเขียว
 
ทางไทยเองก็พยายามจะทำอยู่เช่นกัน โดยเริ่มจากที่ วังจันทร์วัลเลย์ โครงการเมืองนวัตกรรมอัจฉริยะของ ปตท. ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง บนพื้นที่ 3,454 ไร่ รายล้อมด้วยพื้นที่สีเขียวของหุบเขา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ที่มุ่งเน้นในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นประเทศเศรษฐกิจใหม่ หรือ New Engines of Growth ตามเป้าหมายของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการพลิกโฉมหน้าประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม
ด้วยความร่วมมือของกลุ่ม ปตท. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานภาคเอกชนอื่น ๆ เพื่อพัฒนาพื้นที่ได้อย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็น การทำงาน การวิจัย การพัฒนา ไปจนถึงการอยู่อาศัยและการใช้ชีวิต พร้อมทั้งองค์ประกอบทั้ง 7 ด้าน ได้แก่ Smart Environment, Smart Energy, Smart Mobility, Smart Living, Smart Economy, Smart Governance และ Smart People ทำให้วังจันทร์วัลเลย์พร้อมที่จะพัฒนาก้าวสู่ความเป็นเมืองนวัตกรรมต้นแบบอันดับหนึ่งของไทยและเอเชียได้อย่างสมบูรณ์แบบ
แชร์ไปยัง: