เดินหน้ารุกแผน AI แห่งชาติ เผยผล 1 ปีการดำเนินงาน พร้อมปักธงโปรเจกต์ใหญ่ พัฒนาข้อมูล AI หนุนการแพทย์

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) ที่สามารถทลายขีดจำกัดของมนุษย์ และพัฒนาได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังเช่น ChatGPT และ Midjourney ที่ทำงานได้ซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ทุกวันนี้ทั่วโลกไม่อาจปฏิเสธต่อการนำ AI มาประยุกต์ใช้กับกิจกรรมแทบทุกภาคส่วน เช่น ด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การแพทย์ การศึกษา การท่องเที่ยว หรือแม้แต่ในด้านการตลาด AI ยังมีบทบาทสำคัญในการวางกลยุทธ์ เจาะลึกพฤติกรรมลูกค้า และสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่เป็นกระแสความนิยมบนโซเชียลมีเดียเพื่อสร้างยอดขายให้ธุรกิจ ขณะที่หน่วยงานภาครัฐเริ่มนำ AI มาใช้เพิ่มคุณภาพการบริหาร การให้บริการ รวมถึงการร้องเรียนต่าง ๆ เพื่อดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึง หากแต่ว่าแม้ AI จะมีคุณอนันต์ ในทางกลับกันก็ทำให้เกิดโทษมหันต์ได้ หากรู้ไม่เท่าทัน นำไปใช้ในทางที่ผิด หรือไม่มีหน่วยงานที่พร้อมกำกับดูแลใกล้ชิด

เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการพัฒนา AI ที่จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในทุกมิติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดทำ แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พ.ศ. 2565–2570” (Thailand National AI Strategy and Action Plan 2022-2027) โดย สวทช. และ สดช. ร่วมเป็นเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนฯ ซึ่งปัจจุบันดำเนินงานมาครบรอบ 1 ปี จึงจัดแถลงข่าว “1 ปี แผนปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย และก้าวสำคัญในการขับเคลื่อน Medical AI”

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม


ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะเลขานุการร่วมของคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า การจัดทำแผนปฏิบัติการ AI ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานที่สำคัญในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาล มีการจัดทำคู่มือจริยธรรม AI เล่มแรกของไทย การจัดหลักสูตรจริยธรรมที่เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และการเปิดตัวศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ AI อย่างถูกต้องและมีความรับผิดชอบ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางบริการ AI บนคลาวด์ภาครัฐ (GDCC) รวมทั้งเปิดให้บริการ LANTA ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพการคำนวณอันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับที่ 70 ของโลก สำหรับการวิจัยและพัฒนาของภาครัฐและเอกชน

ด้านการพัฒนากำลังคน ขณะนี้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนด้าน AI ได้เห็นชอบภาพรวมข้อเสนอการพัฒนากำลังคนด้าน AI เพื่อสร้างบุคลากรที่มีทักษะความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน AI ในทุกระดับและทุกสาขาตรงตามความต้องการของเอกชน ส่วนผลงานด้านนวัตกรรมและการประยุกต์ใช้ เช่น มีหน่วยงานภาครัฐใน 76 จังหวัด นำระบบวิเคราะห์เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาความยากจนแบบชี้เป้า (TPMAP) เข้าไปขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย ทั้งนี้จากการดำเนินงานขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ในด้านต่าง ๆ ส่งผลให้ปัจจุบันมีบุคลากรเข้ารับการอบรมในโครงการและหลักสูตร AI จำนวน 83,721 คน มีโครงการวิจัยและพัฒนาด้าน AI ในกองทุนวิจัยมูลค่า 1,290 ล้านบาท มีสตาร์ตอัปลงทุนเพิ่มจากการส่งเสริมของรัฐมูลค่า 639 ล้านบาท และที่สำคัญคือจากการจัดอันดับดัชนีความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ของรัฐบาล (AI Government Readiness Index) ประเทศไทยเลื่อนอันดับขึ้นจาก 59 เป็น 31 ทันทีที่มีแผนปฏิบัติการ AI ในปีที่ผ่านมา”

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)


ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวอย่างผลงานการประยุกต์ใช้ AI ที่จะเป็นก้าวสำคัญสู่การขับเคลื่อนวงการแพทย์ คือ การพัฒนาเครือข่ายและแพลตฟอร์มบริหารจัดการข้อมูลเปิดด้านการแพทย์ หรือ Medical AI Data Sharing โดยวันนี้มีการลงนามความร่วมมือ เรื่องการวิจัยพัฒนาชุดข้อมูลและนวัตกรรม เพื่อต่อยอดการใช้ประโยชน์ด้านปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์” ระหว่าง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ สวทช. ภายใต้การสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)

ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มนำ AI เข้ามาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์มากขึ้น แต่โจทย์ใหญ่คือการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลเปิดด้านการแพทย์ที่เปิดโอกาสให้นักวิจัยด้าน AI เข้าถึง เนื่องจากที่ผ่านมามีข้อกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ป่วย รวมถึงการขาดการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ดังนั้นความร่วมมือในการพัฒนา Medical AI ของทั้ง 3 หน่วยงานในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้นักวิจัยด้าน AI ได้เข้าถึงคลังข้อมูลทางการแพทย์ เช่น ภาพเอกซเรย์ทรวงอก ภาพ MRI/CT มะเร็ง ภาพจอประสาทตา (โดยข้อมูลมีการจัดการด้านข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ผ่านคณะกรรมการ Medical AI DATA Consortium) เพื่อให้สามารถนำความเชี่ยวชาญด้าน AI เข้าไปส่งเสริม ขยายผล และต่อยอดการใช้ประโยชน์ของข้อมูล ดังเช่น กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประสบความสำเร็จในการพัฒนา “AIChest4All” ซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้แพทย์คัดกรองผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด วัณโรค โรคทรวงอก และความผิดปกติอื่น ๆ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำใน 1 นาที เครือข่ายความร่วมมือที่ครบวงจรเช่นนี้จะดึงดูดให้โรงพยาบาลวิจัย และหน่วยงานสาธารณสุข ให้ความสนใจเข้าร่วมอีกไม่น้อย นับเป็นอีกความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI จะเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้มีความทันสมัย รวมทั้งผลักดันประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการแพทย์ (Medical Hub) ของเอเชีย”

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ในนามกระทรวง อว. ยินดีที่มีส่วนสำคัญในการร่วมกันผลักดันการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์เป้าหมายของแผนฯ ที่กำหนดไว้ ให้เกิดผลลัพธ์อย่างชัดเจน และเป็นรูปธรรม ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมการเพื่อให้เท่าทันต่อการเข้ามาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ดังนั้น การเตรียมความพร้อมในระดับต่าง ๆ รวมทั้งการสร้างความสามารถทางเทคโนโลยี AI ในประเทศเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งแผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าวนี้ได้วางมิติการพัฒนาได้อย่างครบถ้วน ทั้งในเรื่องของกฎหมาย โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนากำลังคน การวิจัยพัฒนา และส่งเสริมการประยุกต์ใช้งาน AI ซึ่งในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาของการดำเนินงาน ภายหลังอนุมัติแผนฯ อย่างเป็นทางการ ได้แสดงให้เห็นถึงพลังความร่วมมือที่ทุกท่านได้เข้ามามีบทบาทร่วมกันผลักดันการดำเนินงาน จนเกิดผลงานตัวชี้วัดที่สำคัญ ที่ส่งผลกระทบทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม

ละในวันนี้เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่จะแสดงให้เห็นถึงการบูรณาการความร่วมมือ ระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ได้ประสานพลังเพื่อทำงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเน้นบูรณาการทำงานระหว่างหน่วยงานที่จะอาศัยศักยภาพของแต่ละหน่วยงาน ผลักดันให้เกิดการพัฒนาแพลตฟอร์มการบริหารจัดการข้อมูลเปิดด้านการแพทย์ รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาและการต่อยอดการใช้ประโยชน์ด้านปัญญาประดิษฐ์ รวมไปถึงการพัฒนากำลังคน ตลอดจนส่งเสริมระบบนิเวศการวิจัยและพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ของประเทศไทยให้ก้าวหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แชร์ไปยัง: